ดีลอยท์ ประเทศไทย ชี้ IPO ไม่ใช่หลักชัยขององค์กร เส้นทางการเปลี่ยนแปลงแต่ละก้าวเต็มไปด้วยความท้าทาย การเข้าใจปัญหาล่วงหน้าอย่างชัดเจน จึงเป็นข้อได้เปรียบ สามารถใช้ประโยชน์จากไอพีโอได้อย่างเต็มที่ เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) เป็นขายหุ้นของบริษัทเอกชนต่อสาธารณชนในการออกหุ้นใหม่ ซึ่งหลายองค์กรมองว่า IPO เป็นหลักชัยในเติบโตและยั่งยืนขององค์กร สถานการณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ปัจจุบันพบว่ามี แนวโน้มของจำนวนของบริษัทจดทะเบียน IPO และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2564 โดยปี พ.ศ. 2564 เป็นปีที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์
เมื่อดูสถานการณ์ IPO ในประเทศไทยพบว่า บริษัทที่เข้าสู่ IPO ในประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก เพราะสามารถระดมทุนได้สูงกว่าหลาย ๆประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน เหตุผลก็คือ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีความหลากหลายมากกว่า ทำให้นักลงทุนมีทางเลือก
ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2563 สินค้าอุปโภคบริโภคและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่ระดมทุนได้มากที่สุดที่ 91% ของมูลค่าตลาดรวม และในปี พ.ศ. 2564 ได้เปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มพลังงาน 76% ของมูลค่าตลาดโดยรวม เป็นต้น อย่างไรก็ดีกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จากการที่บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น คำถามจึงเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วประโยชน์ของการเข้า IPO มีอะไรบ้าง?
ข้อดีที่บริษัทจะได้รับประโยชน์จากการเสนอขายหุ้น IPO 4 ประการ คือ
การเงิน: บริษัทเอกชนที่สามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้จะสามารถเข้าถึงเงินลงทุนในเรือนหุ้นปริมาณมากๆ อย่างเป็นระบบ ทั้งจากการระดมทุนที่ IPO และการระดมทุนเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านั้นจะได้รับการสนับสนุน โอกาสในการเติบโต และ การเข้าซื้อกิจการ
สภาพคล่อง: บริษัทที่เสนอขายหุ้นจะทำให้ผู้ถือหุ้นมีสภาพคล่อง ซึ่งช่วยให้ผู้ก่อตั้งและนักลงทุนเริ่มต้นสามารถถอนการถือหุ้นบางส่วนหรือทั้งหมดของตนออกจากบริษัทได้ โดยหุ้นของบริษัทสามารถซื้อขายได้ด้วยราคาเสนอซื้อซึ่งสามารถขยายปริมาณและความหลากหลายของผู้ถือหุ้นได้
ภาพลักษณ์: กระบวนการ IPO ต้องผ่านข้อกำหนดต่างๆ ที่เข้มงวด ซึ่งช่วยสะท้อนถึงศักยภาพการบริหารจัดการของบริษัทรวมถึงการรักษาความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังทำให้สื่อและโปรไฟล์สาธารณะมีศักยภาพที่จะเอื้อประโยชน์ทางการค้า ประเด็นสุดท้ายคือ ก.ล.ต. จะรับรู้ว่าบริษัทนั้น ๆ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
การสร้างแรงจูงใจ: การเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นโอกาสที่ดีในการกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนพนักงานและผู้บริหาร เสนอสิ่งจูงใจ สวัสดิการ และ ผลตอบแทนที่สะท้อนการทำงานของพนักงานอย่างความโปร่งใส ซึ่งจะช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยากทำงานกับบริษัทต่อไป
อย่างไรก็ตาม จะมีความท้าทายหลายประการที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับข้อดี
ความท้าทายของการเสนอขายหุ้น IPO แบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก ๆ ดังนี้
การตรวจสอบ: บริษัทที่ผ่าน IPO จะได้รับความสนใจจากสาธารณชน เพิ่มการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการมีส่วนร่วมซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ และ หน่วยงานกำกับดูแล ดังนั้น ฝ่ายบริหารของบริษัทจึงต้องเพิ่มความรับผิดชอบทั้งทางตรงและทางอ้อมในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และ ประมวลกฎหมายของการกำกับดูแลกิจการ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายไปถึงกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลและปฏิบัติข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้นให้ต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
ค่าใช้จ่าย: นอกจากค่าธรรมเนียมในการเข้า IPO แล้ว บริษัทจะต้องเตรียมงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาของการเป็นบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการสำรองเวลาของฝ่ายบริหารและการเงินเพื่อดำเนินการตามข้อกำหนด
เปลี่ยนการควบคุม: เจ้าของเดิมบางคนอาจกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้ เพราะการเข้าตลาดหลักทรัพย์จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ตนเองไม่ได้ต้องการเข้ามาถือหุ้นบริษัท ซึ่งอาจจะเป็นคนที่เข้ามาแย่งสิทธิ์ความเป็นเจ้าของหรืออำนาจในการควบคุมก็ได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นภายนอกที่ต้องการการให้ความสำคัญมากขึ้นอีกด้วย
ข้อสุดท้าย บริษัทเราเหมาะจริง ๆ หรือไม่: มีเงื่อนไขอื่น ๆ อีกมากที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเข้าสู่ตลาดหุ้น นับตั้งแต่การกำหนดให้สัดส่วนหุ้นขั้นต่ำ 25% ไปอยู่ในมือประชาชน การตรวจสอบข้อมูลทางการเงินย้อนหลังเป็นเวลาสามปี และ ขั้นตอนการรายงานทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับการเป็นบริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์
ความท้าทายอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีความรู้ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาอิสระ ลองดูที่ส่วนสุดท้ายด้านล่าง
ที่ปรึกษาอิสระทำอะไร? มีบทบาทสำคัญ 4 ด้านดังนี้
ตรวจสอบทางเลือก: ที่ปรึกษาจะช่วยประเมินความเป็นไปได้ ค้นหาเส้นทางที่สำคัญ พิจารณาโครงสร้างและกำหนดเนื้อหาสาระสำคัญที่จะสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การเตรียมการก่อน IPO: ที่ปรึกษาจะช่วยในการระบุและจัดการทั้งด้านธุรกิจและด้านเทคนิคที่จำเป็น ช่วยผู้บริหารการพยากรณ์ตัวเลขทางการเงินและข้อกำหนดด้านเงินทุน รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการและการวางแผนฉุกเฉินในการทำธุรกิจ
การดำเนินการ IPO: ที่ปรึกษาจะดูแลโครงการเสนอขายหุ้น IPO และกำหนดตารางเวลาการทำธุรกรรม ช่วยในการเลือกทีมที่ปรึกษาที่กว้างขึ้น ยอมรับเงื่อนไขที่สำคัญของการมีส่วนร่วม และให้คำแนะนำเกี่ยวกับเอกสารประกอบการเสนอขายหุ้น
หลัง IPO: หลังจากขั้นตอนการเสนอขายหุ้น IPO ที่ปรึกษายังสามารถให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับคำแนะนำด้านกลยุทธ์ การเงิน และการควบรวมกิจการอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงการให้คำปรึกษาจากธนาคาร/นายหน้าและการให้ความรู้แก่กรรมการและผู้บริหารในหัวข้อที่สำคัญได้อีกด้วย
สรุป
การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป เป็นการเดินทางที่ต่อเนื่องตั้งแต่การจัดเตรียม การยื่น การดูแลระบบ ไปจนถึงการที่บริษัทได้เปลี่ยนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้บริษัทสามารถระดมทุนจากประชาชนทั่วไปได้ เส้นทางการเปลี่ยนแปลงแต่ละก้าวเต็มไปด้วยความท้าทาย
ดังนั้นการเข้าใจปัญหาล่วงหน้าอย่างชัดเจนจึงเป็นข้อได้เปรียบ สามารถใช้ประโยชน์จากการเสนอขายหุ้นได้อย่างเต็มที่เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
บทความโดย : วิลาสินี กฤษณามระ Disruptive Event Advisory Country Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย
อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market